คุณภาพน้ำที่ใช้ในการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์

คุณภาพน้ำที่ใช้ในการเตรียมสารละลายปุ๋ย AB

โดยทั่วไปในบ้านเราจะเตรียมสารละลายธาตุอาหารพืชในการปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์ตามสูตรต่างๆ ที่เตรียมจากน้ำที่ค่อนข้างบริสุทธิ์ มีสารต่างๆละลายเจือปนอยู่น้อย เช่น น้ำฝน น้ำกรอง แต่ถ้าการปลูกในระบบปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์เพื่อเป็นการค้า จำเป็นต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำในท้องถิ่น เช่น จากน้ำประปา น้ำบาดาล หรือ จากแม่น้ำลำธาร(ที่ผ่านการกรองเอาสารแขวนลอยต่างๆออกไปแล้ว) ซึ่งน้ำเหล่านี้จะมีพวกแร่ธาตุต่างๆละลายอยู่ไม่มากก็น้อย ถึงแม้ว่าเราสามารถจะกรองธาตุต่างๆ เหล่านี้ออกได้ แต่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง

ปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์ โดยใช้น้ำจากแหล่งน้ำ

ปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์ โดยใช้น้ำจากแหล่งน้ำ

วิธีการหนึ่งที่สามารถนำน้ำเหล่านี้มาใช้ได้โดยตรง โดยการคำนวณปริมาณสารอาหารและกรดที่จะใส่ลงในน้ำ เพื่อเพิ่มเติมธาตุอาหารและปรับค่า pH ให้ได้ตามความต้องการของเรา

น้ำที่ใช้เตรียมสารละลายนั้น โดยทั่วไปถ้าน้ำสะอาดพอที่มนุษย์หรือสัตว์สามารถดื่มได้ ก็ถือว่าเป็นน้ำที่สามารถนำมาใช้เตรียมสารละลายสำหรับการปลูกพืชได้ นอกจากความสะอาดแล้ว ควรทราบคุณสมบัติทางเคมีว่ามีธาตุต่างๆอยู่ในปริมาณเท่าใด มีความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) อยู่ในระดับไหน ในการปลูกพืชผักเป็นการค้าจึงควรนำตัวอย่างน้ำไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ค่าวิเคราะห์จะบอกให้ทราบว่าน้ำที่จะใช้ ประกอบด้วยธาตุอะไรบ้าง มีปริมาณอยู่ในระดับไหนเป็นพิษต่อพืชหรือไม่

ปัญหาของน้ำที่พบในการปลูกพืชไฮโดรโปรนิกส์

ธาตุอาหารที่พบในน้ำและเป็นปัญหาคือ โซเดียม และคลอรีน ซึ่งเป็นธาตุที่พืชดูดไปใช้น้อยมาก ดังนั้นถ้าพบในน้ำที่ในปริมาณมากก็จะเกิดการสะสมและเป็นพิษต่อพืช โดยเฉพาะในระบบปิดที่มีการนำสารละลายกลับมาใช้ใหม่

ปริมาณโซเดียมในสารละลายจะมีความเป็นพิษต่อพืช แต่ละชนิดไม่เท่ากัน เช่น โซเดียมอิออนที่ความเข้มข้น 50 ppm ในสารละลายจะเป็นพิษต่อ ผักสลัด สตอเบอรี่ และกุหลาบ แต่สำหรับมะเขือเทศสามารถทนความเข้มข้นของโซเดียมอิออนได้ถึง 200 ppm หรือมากกว่า

จากปัญหาการสะสมของเกลือที่พืชต้องการในปริมาณน้อยนี่ จึงต้องมีการจัดการเกี่ยวกับธาตุอาหาร เมื่อใช้น้ำที่เกลือแร่เหล่านี้ละลายอยู่มาก จะยุ่งยากกว่าน้ำที่มีเกลือละลายอยู่น้อย โดยเฉพาะระบบที่มีการหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ใหม่ เช่น ระบบ NFT ส่วนระบบที่ไม่มีการนำสารละลายกลับมาใช้ใหม่ เช่น การปลูกในวัสดุปลูก และการได้ระบายน้ำทิ้ง จะสามารถนำน้ำที่มีเกลือเหล่านี้ มาใช้ได้ แต่ต้องเพิ่มปริมาณน้ำที่ระบายออกให้มากขึ้น เพื่อชะเกลือที่สะสมในวัสดุปลูก ซึ่งทำให้สิ้นเปลืองสารละลาย

อนุมูลไบคาร์บอนเนต

อนุมูลไบคาร์บอนเนตมีผลต่อค่า pH ของสารละลาย โดยทำให้ pH สูงขึ้น ซึ่งมีผลต่อความเป็นประโยชน์ของธาตุบางตัว เช่น ถ้า pH ของสารละลายสูงกว่า 6 การละลายของอนุมู]คาร์บอเนตและฟอสฟอรัสจะลดลง โดยจะตกตะกอนกับแคลเซียมและแมกนีเซียม ทำให้พืชใช้ประโยชน์ธาตุทั้งสองได้น้อยลง นอกจากนี้ตะกอนที่เกิดขึ้นจะอุดตันหัวน้ำหยด ระบบท่อ และเครื่องกรองน้ำ และยังไปหุ้มอิเล็คโทรดส์ของเครื่องวัด pH และเครื่องวัด EC  และถ้า pH สูง ย่อมมีผลให้เหล็กคีเลต อยู่ในรูปที่พืชไม่สามารถดูดไปใช้ได้อีกด้วย

น้ำที่เหมาะสมต่อการปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์ที่สุดคือ?

น้ำที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์คือ “น้ำฝน” เพราะเป็นน้ำที่มีความบริสุทธิ์สูง แต่จะต้องมีภาชนะเก็บขนาดใหญ่ พอที่จะเก็บน้ำได้เพียงพอ ที่จะนำมาใช้เตรียมสารละลายโดยตรง หรือนำมาใช้ผสมกับน้ำแหล่งอื่นในกรณีที่ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอ

น้ำฝนเหมาะสำหรับ ปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์

น้ำฝนเหมาะสำหรับ ปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์

ข้อมูลจากหนังสือไฮโดรโปนิกส์ฉบับชาวบ้าน

error: Content is protected !!